วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ทรงพระเจริญ



แปด          มรรคมัชฌิมาธรรม         ทรงน้อม
สิบ            ราชธรรมล้อม               ทั่วหล้า
เจ็ด           โพชฌงต์เปี่ยมพร้อม      พิสุทธิ์     เษกนา
พรรษา      พระผ่านฟ้า                   ลุถ้วน    สมบูรณ์

ขอ            ตรัยรัตนป้อง                จอมธรรม
ทรง          เกษมสำราญตาม           สวัสดิ์รุ่ง
พระ          เกียรติก้องทุกเขตคาม    แซ่ซ้อง   
เจริญ        รัศมีฟุ้ง                        เฟื่องฟ้า    มหาศาล
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ปลายยอดพระธาตุ

นี้คือส่วนใดของพระธาตุ เมืองนคร
????????????????????????


บริเวณส่วนปลายของปลียอด
ที่ทำเป็นบัวหงายรองรับพุ่มข้าวบิณฑ์
ได้ประดิษฐ์เครื่องสักการะบูชาด้วยแก้วแหวนเงินทอง
เป็นดอกไม้ทองคำมีกลีบและใบซ้อนกันบางๆ คล้ายดาวเรือง
บนก้านดวงแก้วและลูกปัดพันแผ่นทองไว้ภายใน




 จากภาพ แสดงส่วนบริเวณบรรจุดอกไม้สักการะภายในกรวย
โดยดึงฝากรวยออกจะเห็นชิ้นส่วนที่เป็นองค์ประกอบในชุดดอกไม้
และสิ่งของมีค่าในกรวยเครื่องสักการะ















บัญชา

วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เมืองนครบนแผนที่โบราณ ?

เมืองนครบนแผนที่โบราณในพิพิธภัณฑ์อิเดมิตสึ
????????????????????????

           
                            ในโตเกียวรอบนี้ที่พวกเราขับรถบุกเข้าไปถึงย่านกินซ่าเพื่อนอนโรงแรมเพนนินซูล่าตรงหน้าวังอิมพีเรียลขององค์จักรพรรดิ
เลือกแวะเวียนหลายพิพิธภัณฑ์ ทั้งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์เนซึ ซึ่งดีทั้งนั้น แต่ที่เจอเมืองนครเข้าเต็ม ๆ ก็ที่พิพิธภัณฑ์อิเดมิตสึ เป็นของเอกชนอยู่ริมพระราชวัง เดินจากโรงแรมไม่กี่นาที เขากำลังจัดแสดงแผงภาพฉากกั้นซึ่งเป็นหนึ่งในงานยอดนิยมของคนญี่ปุ่น 


                       มีภาพหนึ่งเป็นรูปแผนที่โลก บริเวณประเทศไทยมีเขียนไว้ ๒ ชื่อ กับมีภาพผู้คนรอบโลกระบุชื่อไว้ด้วย แม้จะอ่านไม่ออก ผมก็ยังพยายามถามจนได้ความว่า ๑ ใน ๒ ชื่อตรงตำแหน่งประเทศไทยนั้นคือ "ล๊กคุ้น" ซึ่งคือ "นคร" นั่นเอง ส่วนภาพคนนั้น ถามเท่าไหร่ก็ไม่ได้ความ เอาไว้จะหาโอกาสค้นคว้ามาบอกใหม่ เฉพะที่ได้พบ "ล๊กคุ้น" ในแผนที่โบราณญี่ปุ่นก็คุ้มค่าแล้วครับ 

                  
                อันที่จริงเมืองนครของเรานั้นมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างไกลมาแสนนาน ปรากฏอยู่บนแผนที่โลกของนานาประเทศมากมาย มีแม้กระทั่ง
ระบุเป็น "ราชอาณาจักร" ด้วยซ้ำ ผมติดตามศึกษาค้นคว้ามานานปี แถมมีแผนที่ผืนสำคัญไว้ไม่น้อย วันหน้าจะนำมาบอกเล่าครับ.




บัญชา
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ 

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระพุทธสิหิงค์เมืองนคร กับองค์อื่น ๆ องค์ไหนแท้และดั้งเดิม ?


พระพุทธสิหิงค์ ในหอพระสิหิงค์ นครศรีธรรมราช  กับที่วัดพระสิงค์  เชียงไหม่ องค์ไหนมาจากลังกา ?

????????????????????????



ทั้ง ๒ องค์นี้ รวมทั้งองค์ที่ กทม.ไม่น่าจะมาจากลังกาทั้งนั้นครับผม

ผมเขียนอย่างย่อในตามรอยธรรมที่เมืองนครไว้อย่างนี้

"หอพระสิหิงค์ ๑ ใน ๓ องค์สำคัญของชาติที่เหลือบทบาทเพียงเพื่อร้องขอหรือสาบานของคนขึ้นศาล ทั้งที่จริงแล้วทั้ง ๓ องค์ที่มีประวัติตำนานผ่านนครศรีธรรมราช สุโขทัย กำแพงเพชร อยุธยา เชียงราย เชียงใหม่ และ กรุงเทพมหานคร จนลงเอยเป็น ๓ องค์สำคัญ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ และ กรุงเทพ นั้นเคยมีสถานะเป็นเสมือนสัญลักษณ์สำคัญแห่งเอกราชอาณาจักร บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา"

แต่ขอตอบอย่างยาวอีกนิดดังนี้นะครับ


พระสิหิงค์ นครศรีธรรมราช

๑) พระพุทธสิหิงค์องค์เมืองนครนี้ เป็นหนึ่งใน ๓ องค์สำคัญของชาติ ในขณะที่ยังมีอีกนับสิบ ๆ องค์ในท้องถิ่นจังหวัดและวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

๒) ตำนานที่ใช้อ้างอิงอย่างกว้างขวางที่สุดคือ "สิหิงคนิทาน" แต่งโดยพระโพธิรังสีมหาเถระแห่งวัดโพธารามหรือวัดเจ็ดยอดแห่งล้านนา เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๐๐๐ มีความโดยย่อว่าสร้างขึ้นในลังกาเมื่อ พ.ศ.๗๐๐ ด้วยหมายให้ละม้ายเหมือนพระพุทธองค์ให้มากที่สุด เมื่อพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัยทราบกิตติศัพท์ ได้ขอให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งนครศรีธรรมราชขอมาได้ มีการจำลองไว้ที่นครองค์หนึ่งก่อนที่จะอัญเชิญสู่กรุงสุโขทัย





จนสุโขทัยตกอยู่ในอาณัติของอยุธยา พระเจ้าไสยลือไทยได้อัญเชิญมาที่พิษณุโลกจนสิ้นพระชนม์ พระบรมราชาธิราชที่ ๑ จึงอัญเชิญสู่อยุธยา ต่อมาพญายุธิษเฐียรแห่งกำแพงเพชรขอให้มารดาซึ่งตกเป็นชายาของพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ทูลขอเอาไปไว้ที่กำแพงเพชร ที่นั่นมีผู้จำลองด้วยขี้ผึ้งไปถึงเชียงราย ท้าวมหาพรหมแห่งเชียงรายอยากได้ จึงชวนพระเจ้ากือนาเชียงใหม่มาขู่ขอไปไว้ที่เชียงราย ก่อนที่เชียงใหม่และเชียงรายจะรบกัน พระเจ้าแสนเมืองมาแห่งเชียงใหม่จึงอัญเชิญไปถึงเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๑๙๕๐ จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ.๒๒๐๕ ได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา ครั้นเสียกรุงครั้งที่ ๒ ทางเชียงใหม่ซึ่งอยู่ฝ่ายพม่า ได้อัญเชิญกลับไปจนกระทั่งรัชกาลที่ ๑ อัญเชิญมายังกรุงเทพ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์มาถึงทุกวันนี้ ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย

ในขณะที่ทางเชียงใหม่ กล่าวกันว่าได้จำลองมอบให้ไปแต่เก็บรักษาองค์จริงไว้ ทุกวันนี้ประดิษฐานอยู่ในหอพระสิหิงห์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เช่นเดียวกับองค์ที่นครที่มีการกล่าวในทำนองเดียวกันว่าเก็บองค์จริงไว้ จำลองให้พ่อขุนรามไป โดยเก็บรักษาในหอพระของจวนเจ้าเมืองซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัด พร้อมกับสร้างเป็นหอพระพุทธสิหิงค์ถึงทุกวันนี้และน่าเสียดายที่ดูเหมือนจะเหลือบทบาทเดียวคือ เป็นที่สาบานตนรวมทั้งบนบานในการขึ้นศาลเมื่อมีคดีความ
พระสิหิงค์ เชียงไหม่



๓) ไม่อาจสรุปได้ว่าองค์ไหนคือองค์ดั้งเดิมจากลังกาตามตำนานสิหิงคนิทาน

 แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะ มีข้อพิจารณาดังนี้

ก.ไม่มีตำนานเรื่องนี้ทางฝ่ายลังกา รวมทั้งไม่มีพระพุทธสิหิงค์ดั้งเดิมที่ลังกาเลย มีแต่ที่คนไทยเพิ่งนำไปถวายในภายหลัง ผมกับแม่และน้าก็เคยนำไปถวายไว้องค์หนึ่งเมื่อคราวไปแสวงบุญกันที่นั่น

ข.พระพุทธสิหิงค์ทั้ง ๓ องค์หลัก มีลักษณะตามศิลปะของท้องถิ่น คือ องค์เมืองนครเป็นปางมารวิชัย ลักษณะขนมต้มเมืองนคร องค์เชียงใหม่ก็เป็นปางมารวิชัย ลักษณะแบบพระสิงห์เชียงแสน องค์กรุงเทพเป็นปางสมาธิ ศิลปอย่างสุโขทัย-อยุธยา ทั้งนี้พระพุทธรูปฝ่ายลังกานิยมปางสมาธิ พบปางมารวิชัยน้อยมาก ส่วนองค์อื่น ๆ นับสิบ ๆ องค์ที่มีในเมืองไทยนั้นมีศิลปะและปางแตกต่างกันไป เชื่อว่าสร้างทำกันในแต่ละท้องถิ่นด้วยคตินิยมร่วม หรือไม่ก็เป็นองค์ต้นแบบของแต่ละท้องถิ่นตามคตินิยมร่วม
พระสิหิงค์ กรุงเทพฯ


ค.มีการศึกษาค้นคว้าตีความอีกมากมายหลายกระแส เช่น บ้างก็ว่าแท้จริงชื่อพระสิหิงค์มาจากคำมอญว่า สฮิงสแฮ แปลว่าสวยงาม บ้างว่าองค์ที่กรุงเทพนั้นคนหยิบเลือกเอาองค์ในหอพระที่เป็นปางสมาธิเพราะมีความรู้ว่าพระจากลังกาเป็นปางสมาธิ ในขณะที่องค์อื่น ๆ ของแต่ละท้องถิ่นก็มีตำนานท้องถิ่นว่าเป็นองค์แท้และดั้งเดิมทั้งสิ้น






 พระ toluvila ลังกา
๔) ด้วยตำนานที่สืบเนื่องมานานว่าสร้างทำอย่างเหมือนพระพุทธองค์ เป็นที่รวมซึ่งอิทธานุภาพ ๓ ประการ คือ

อธิษฐานพละของพระอรหันต์ อธิษฐานพละของเจ้าลังกา และศาสนพละของพระพุทธองค์   กระทำให้พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธปฏิมากรที่ทรงอานุภาพ ในตอนหนึ่งของสิหิงคนิทาน พระโพธิรังสี กล่าวว่า  "พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่"

         พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ผู้รวบรวมตำนานพระพุทธสิหิงค์ กล่าวถึงว่า "อย่างน้อยก็สามารถบำบัดทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ถ้าได้มาจุดธูปเทียนบูชาและนั่งนิ่งๆ มองดูองค์พระสัก ๑๐ นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะจะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านจะกลับขยัน ผู้ที่หมดหวังจะกลับมีความหวัง"

พระสิหิงค์ ราชภัฎ ภาพจากคุณอำนวย ทองทะวัย

๕) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้สร้างพระพุทธสิหิงค์องค์ใหญ่ขึ้นประดิษฐานที่เชิงเขามหาชัย ผมได้เสนอแนะให้เป็นอุทยานและศูนย์การเรียนรู้พระพุทธสิหิงค์ ด้วยการประมวลรวบรวมพระพุทธสิหิงค์ต่างๆ จากทั่วทั้งประเทศมาประดิษฐานไว้พร้อมกับตำนานเรื่องราวทั้งหลาย รวมทั้งการพัฒนาประเพณีสรงน้ำสงกรานต์สำคัญขึ้น ณ ที่นี้






บัญชา / บ้านท่าวัง กทม.

๒๑ กค.๕๖

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปืนใหญ่หลายกระบอกนอกวิหารพระมหากัจจายนะ ๒

รอบวิหารพระมหากัจจายนะ มีปืนไหญ่เรียงราย  มีความเป็นมาหรือไม่ ??

????????????????????????



๔ มุมของวิหารพระแอดนั้น ท่านนำปืนใหญ่เก่า ๆ ที่พบและรวบรวมมาจากที่ต่าง ๆ วางไว้

ส่วนใหญ่เป็นปืนใหญ่ทำจากเหล็ก ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก ยังไม่มีการศึกษาค้นคว้าว่าของทำที่ไหน ใช้ที่ไหน สมัยไหน
แต่ว่าพบทั่วไปในเมืองนคร



มี ๒ กระบอกสำคัญทางด้านทิศเหนือ

ด้านประตูวิหาร มีกระบอกหนึ่งน่าจะเป็นทองแดงผสม มีอักขระอาหรับหล่อไว้ด้วย เคยมีการอ่านแปลไว้แล้ว ขอเวลาค้นข้อมูลให้

ด้านหลังวิหาร มีอีกกระบอกหนึ่ง ระบุปี คศ และ VOC ซึ่งเป็นชื่อย่อของบริษัท ดัช อีสอินเดีย ผู้เอาเรือปืนเข้ามาเป็นเงื่อนไขการเปิดการค้ากับแถบนี้  โดยได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าที่เมืองนคร ประมาณรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร ถ้าจำไม่ผิดนะครับ

แล้วจะค้นหารายละเอียดมาเพิ่มครับ


บัญชา / กทม.
๑๗ กค.๕๖ 

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วิหารพระมหากัจจายนะ : บูชาแบบอย่างผู้ถึงธรรมที่คลี่คลายกลายเป็นพระแอดแห่งเมืองนคร

ในวิหารพระแอด วัดพระมหาธาตุ ด้านหลังองค์พระประธาน  มีการวางไม้(ตามภาพ) ทำไม ?

??????????????????????????

วิหารประดิษฐานพระมหากัจจายนะ หนึ่งในพุทธสาวกรูปงามผู้เป็นเลิศในทางย่อและขยายข้อธรรมเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของมหาชน จนพากันติดรูปและไม่สนใจธรรม
ถึงกับท่านต้องแก้ด้วยการมีรูปร่างที่ไม่งามอวบอ้วนเพื่อให้คนสนใจในธรรม


เดิมประดิษฐานกลางแจ้งนอกพระวิหารคด แล้วยายแอดถวายปัจจัย สร้างพระวิหารนี้เพื่อประดิษฐาน ก่อนที่จะกลายมาเป็นที่แก้เคล็ดแก้เข็ดหลังของผู้คนด้วยการนำไม้มาค้ำ 




ต่อด้วยการกลายเป็นผู้ดลบันดาลความสำเร็จ     สารพัด โดยเฉพาะการขอลูก จึงมีรูปภาพเด็ก ๆ มารายงานผล ขอพรพร้อมกับการฝากเนื้อฝากตัวไว้มากมาย









การเคลื่อนความหมายของพระมหากัจจายนะนี้ เท่าที่ปรกฏในวัดพระธาตุก็มีมาหลายคำรบแล้ว
แบบว่าจนแทบไม่เหลือเค้าความหมายดั้งเดิมที่ท่านมุ่งให้สนใจในธรรมเป็นสำคัญ อย่างมัวหลงติดอยู่ในรูป



มาออกเป็นแก้ปวดเมื่อยเข็ดหลัง แล้วก็มาเป็นที่บนบานการขอลูกแล้วเอารูปลูกมาฝากให้ท่านดูแลรักษา







บัญชา / กทม.
๑๕ กค.๕๖ 

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วิหารทรงม้า ๔ : ภาพพระทรงม้า ปางออกมหาภิเนษกรม์

ภาพในวิหารทรงม้านี้มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร ?

????????????????



นี้คือหนึ่งในภาพปูนปั้นนูนต่ำ (Bas Relief) ชิ้นสำคัญในระดับที่เรียกกันว่าเป็นมรดกวัฒนธรรมชั้นเยี่ยมของชาติ หรือ National Treasure & Master piece ที่ประกอบด้วยทั้งความงามประณีต ความมีขนาดใหญ่ และ สมบูรณ์ด้วยเนื้อหา ไม่มีชิ้นอื่นใดในชาติเทียบเท่า
เรียกกันว่าภาพปูนปั้นภาพพระมหาภิเนษกรม์

แสดงครั้งพระพุทธองค์ทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรม์ คือ ออกทรงผนวชเป็นที่มาของชื่อพระวิหารมหาภิเนษกรม์ หรือ พระทรงม้าหรือที่กร่อนลงมาเหลือเพียงวิหารพระม้า


เป็นภาพปูนปั้นนูนต่ำติดไว้ที่ผนังบันไดทางขึ้นลานประทักษิณทั้ง ๒ ด้าน
โดยภายในสุดที่ฐานองค์พระบรมธาตุ มีซุ้มพระพุทธรูปอย่างที่ฐานทักษิณด้านนอก


ภาพปูนปั้นนูนต่ำนี้บอกเรื่องราวครั้งเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกผนวชตามลำดับ
จากด้านในออกมาที่แสดงเป็นภาพเหล่าเทวดานางฟ้ามาเฝ้าอยู่
เทวดาองค์บนอาจจะเป็นพระพรหม


ถัดมาแสดงพระวิมานที่พระนางยโสธราพิมพากำลังบรรทมหลับ
มีพระราหุลกุมารอยู่ในอ้อมพระอุระ เห็นพระถรรเต็มตึง

ต่ำลงมาเป็นเหล่าสนมนางในที่หลับไหลอยู่ท่ามกลางช่างประโคมและรำฟ้อน














ภาพบุรุษทรงพระภูษา ชฎา และพระขรรค์ในหัตถ์ขวา
คือเจ้าชายสิทธัตถะกำลังผันพระพักตร์กึ่งทางไปยังพระชายาและกุมาร

ยกพระขรรค์เสมือนหมายว่าจะทรงตัดเสียจากโลกียวิสัยที่ทรงมีอยู่อย่างพร้อมสรรพ ทั้งปราสาทราชวังนางในและทรัพย์สมบัติแม้จะเต็มไปด้วยความอาลัยขณะที่พระบาทนั้นหันออกนอกเพื่อพระดำเนินออกไปแสวงหาความหมายแห่งชีวิตที่มากกว่าการเสาะแสวงหาและเสพสุขอยู่เยี่ยงนี้ ดังที่ทรงมีนิมิตว่าด้วยความแก่  ความเจ็บ ความตาย และ การออกบำเพ็ญเพียรภาวนามาก่อน พระบาทของพระองค์มีดอกบัวบานรับ แสดงถึงเส้นทางนี้เป็นมงคลควรดำเนิน






ภาพใหญ่แสดงขณะเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะลอยเด่น
มีเหล่าเทวดาจำนวนมากมาร่วมแห่แหนพาเหาะมุ่งไปข้างหน้า
ที่พอจะระบุได้มีพระพรหมกำลังถวายฉัตร ๓ ชั้นอยู่ด้านหลัง
ในขณะที่นายฉันนะนั้นกำลังเกาะพู่พวงหางของม้ากัณฑกะไว้
ขอให้ดูเครื่องประดับทรงของม้าต้นที่งดงามอย่างยิ่ง



ณ สุดขอบกรอบของภาพนี้
ท่านทำเป็นภาพบุคคลถือกระบองยืนโบกมือห้ามอยู่





ด้านตะวันตกทำให้เห็นชัดว่าคือยักษ์มารร้าย

หมายถึงพญามารที่มาคอยสกัดห้ามการเสด็จออกผนวช



แถมยืนอยู่บนพญาราหูน้อย หนึ่งในหมู่แห่งพญามารเช่นกัน








โดยรวมแล้วภาพนี้นอกจากจะเป็นภาพพุทธประวัติตอนสำคัญแล้วยังสามารถอุปมาอุปไมยให้คติแก่ชีวิตอย่างสำคัญหลายชั้น ดังนี้

๑)ระลึกถึงประวัติและคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงรู้แล้วมุ่งมั่นศึกษาปฏิบัติจริงจังจนตรัสรู้แล้วเมตตาสั่งสอนสืบมาจนถึงพวกเรา


๒)ระลึกถึงแบบอย่างการสละความสุขของชีวิตทางโลกออกผนวชเพื่อเสาะแสวงหาทางธรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า มหาภิเนษกรม์ เพราะหากไม่มีครั้งนี้ก็ไม่มีพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา

๓) ระลึกถึงตนเอง แม้ไม่ถึงกับการสละทางโลกออกบวชอย่างพระพุทธองค์  ก็ขอให้คิดถึงกุศลกรรมอีกมากมายที่พึงกระทำซึ่งจะได้รับการสรรเสริญจากเหล่าเทวดาคนดี  โดยมักจะมีฝ่ายอกุศลเสมือนมารร้ายมาคอยสกัดยับยั้งชักชวนให้เสียอยู่เสมอ ๆ  ซึ่งต้องอาศัยการประกอบไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงไม่ให้แพ้เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะตัดพระทัยออกมาจากสุขและสมบัติอันเย้ายวนอย่างยิ่ง



ตามตำนาน กล่าวว่าภาพปูนปั้นนี้
๒ เศรษฐีชาวมอญและลังกาชื่อพลิติพลิมุ่ย ผู้มาอยู่ร่วมซ่อมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้ทำขึ้นจากอัฐิอังคารของลูกของทั้ง ๒ คนที่ทะเลาะแล้วฆ่ากันตายขณะที่พ่อมาทำกิจกุศล

แต่ตามประวัติศาสตร์ศิลปกล่าวกันว่าเป็นงานศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายเชื่อว่าซ่อมสร้างครั้งใหญ่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่หลังจากร้างอยู่นาน  พร้อมกับการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยา และส่งสมณทูตไปสถาปนาสยามวงศ์ในกรุงลังกาหลังจากนั้นมีการบูรณะอีกหลายครั้งยังอยู่อย่างสมบูรณ์ถึงทุกวันนี้ ต่างจากที่อื่น ๆ ซึ่งปรักหักพังร้างราลงเหลือแต่เพียงเศษเสี้ยวเป็นส่วน ๆ แทบทั้งนั้น.

ที่พระธาตุทุกวันนี้นั้น มี ๒ ภาพใหญ่เท่า ๆ กัน ด้านตะวันออกของบันไดกล่าวกันว่าเป็นของเก่าก่อน ด้านตะวันตกที่มีฝีมือด้อยกว่า กล่าวกันว่าเป็นของทำตามขึ้นภายหลัง มีรายละเอียดแตกต่างกันไม่มากนัก.

บัญชา พงษ์พานิช
เพลินสถาน สวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์ / สุธีรัตนามูลนิธิ
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖