วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระพุทธสิหิงค์เมืองนคร กับองค์อื่น ๆ องค์ไหนแท้และดั้งเดิม ?


พระพุทธสิหิงค์ ในหอพระสิหิงค์ นครศรีธรรมราช  กับที่วัดพระสิงค์  เชียงไหม่ องค์ไหนมาจากลังกา ?

????????????????????????



ทั้ง ๒ องค์นี้ รวมทั้งองค์ที่ กทม.ไม่น่าจะมาจากลังกาทั้งนั้นครับผม

ผมเขียนอย่างย่อในตามรอยธรรมที่เมืองนครไว้อย่างนี้

"หอพระสิหิงค์ ๑ ใน ๓ องค์สำคัญของชาติที่เหลือบทบาทเพียงเพื่อร้องขอหรือสาบานของคนขึ้นศาล ทั้งที่จริงแล้วทั้ง ๓ องค์ที่มีประวัติตำนานผ่านนครศรีธรรมราช สุโขทัย กำแพงเพชร อยุธยา เชียงราย เชียงใหม่ และ กรุงเทพมหานคร จนลงเอยเป็น ๓ องค์สำคัญ นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ และ กรุงเทพ นั้นเคยมีสถานะเป็นเสมือนสัญลักษณ์สำคัญแห่งเอกราชอาณาจักร บ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา"

แต่ขอตอบอย่างยาวอีกนิดดังนี้นะครับ


พระสิหิงค์ นครศรีธรรมราช

๑) พระพุทธสิหิงค์องค์เมืองนครนี้ เป็นหนึ่งใน ๓ องค์สำคัญของชาติ ในขณะที่ยังมีอีกนับสิบ ๆ องค์ในท้องถิ่นจังหวัดและวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ

๒) ตำนานที่ใช้อ้างอิงอย่างกว้างขวางที่สุดคือ "สิหิงคนิทาน" แต่งโดยพระโพธิรังสีมหาเถระแห่งวัดโพธารามหรือวัดเจ็ดยอดแห่งล้านนา เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๐๐๐ มีความโดยย่อว่าสร้างขึ้นในลังกาเมื่อ พ.ศ.๗๐๐ ด้วยหมายให้ละม้ายเหมือนพระพุทธองค์ให้มากที่สุด เมื่อพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัยทราบกิตติศัพท์ ได้ขอให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งนครศรีธรรมราชขอมาได้ มีการจำลองไว้ที่นครองค์หนึ่งก่อนที่จะอัญเชิญสู่กรุงสุโขทัย





จนสุโขทัยตกอยู่ในอาณัติของอยุธยา พระเจ้าไสยลือไทยได้อัญเชิญมาที่พิษณุโลกจนสิ้นพระชนม์ พระบรมราชาธิราชที่ ๑ จึงอัญเชิญสู่อยุธยา ต่อมาพญายุธิษเฐียรแห่งกำแพงเพชรขอให้มารดาซึ่งตกเป็นชายาของพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ทูลขอเอาไปไว้ที่กำแพงเพชร ที่นั่นมีผู้จำลองด้วยขี้ผึ้งไปถึงเชียงราย ท้าวมหาพรหมแห่งเชียงรายอยากได้ จึงชวนพระเจ้ากือนาเชียงใหม่มาขู่ขอไปไว้ที่เชียงราย ก่อนที่เชียงใหม่และเชียงรายจะรบกัน พระเจ้าแสนเมืองมาแห่งเชียงใหม่จึงอัญเชิญไปถึงเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๑๙๕๐ จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้ในปี พ.ศ.๒๒๐๕ ได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา ครั้นเสียกรุงครั้งที่ ๒ ทางเชียงใหม่ซึ่งอยู่ฝ่ายพม่า ได้อัญเชิญกลับไปจนกระทั่งรัชกาลที่ ๑ อัญเชิญมายังกรุงเทพ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์มาถึงทุกวันนี้ ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย

ในขณะที่ทางเชียงใหม่ กล่าวกันว่าได้จำลองมอบให้ไปแต่เก็บรักษาองค์จริงไว้ ทุกวันนี้ประดิษฐานอยู่ในหอพระสิหิงห์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เช่นเดียวกับองค์ที่นครที่มีการกล่าวในทำนองเดียวกันว่าเก็บองค์จริงไว้ จำลองให้พ่อขุนรามไป โดยเก็บรักษาในหอพระของจวนเจ้าเมืองซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นศาลากลางจังหวัด พร้อมกับสร้างเป็นหอพระพุทธสิหิงค์ถึงทุกวันนี้และน่าเสียดายที่ดูเหมือนจะเหลือบทบาทเดียวคือ เป็นที่สาบานตนรวมทั้งบนบานในการขึ้นศาลเมื่อมีคดีความ
พระสิหิงค์ เชียงไหม่



๓) ไม่อาจสรุปได้ว่าองค์ไหนคือองค์ดั้งเดิมจากลังกาตามตำนานสิหิงคนิทาน

 แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะ มีข้อพิจารณาดังนี้

ก.ไม่มีตำนานเรื่องนี้ทางฝ่ายลังกา รวมทั้งไม่มีพระพุทธสิหิงค์ดั้งเดิมที่ลังกาเลย มีแต่ที่คนไทยเพิ่งนำไปถวายในภายหลัง ผมกับแม่และน้าก็เคยนำไปถวายไว้องค์หนึ่งเมื่อคราวไปแสวงบุญกันที่นั่น

ข.พระพุทธสิหิงค์ทั้ง ๓ องค์หลัก มีลักษณะตามศิลปะของท้องถิ่น คือ องค์เมืองนครเป็นปางมารวิชัย ลักษณะขนมต้มเมืองนคร องค์เชียงใหม่ก็เป็นปางมารวิชัย ลักษณะแบบพระสิงห์เชียงแสน องค์กรุงเทพเป็นปางสมาธิ ศิลปอย่างสุโขทัย-อยุธยา ทั้งนี้พระพุทธรูปฝ่ายลังกานิยมปางสมาธิ พบปางมารวิชัยน้อยมาก ส่วนองค์อื่น ๆ นับสิบ ๆ องค์ที่มีในเมืองไทยนั้นมีศิลปะและปางแตกต่างกันไป เชื่อว่าสร้างทำกันในแต่ละท้องถิ่นด้วยคตินิยมร่วม หรือไม่ก็เป็นองค์ต้นแบบของแต่ละท้องถิ่นตามคตินิยมร่วม
พระสิหิงค์ กรุงเทพฯ


ค.มีการศึกษาค้นคว้าตีความอีกมากมายหลายกระแส เช่น บ้างก็ว่าแท้จริงชื่อพระสิหิงค์มาจากคำมอญว่า สฮิงสแฮ แปลว่าสวยงาม บ้างว่าองค์ที่กรุงเทพนั้นคนหยิบเลือกเอาองค์ในหอพระที่เป็นปางสมาธิเพราะมีความรู้ว่าพระจากลังกาเป็นปางสมาธิ ในขณะที่องค์อื่น ๆ ของแต่ละท้องถิ่นก็มีตำนานท้องถิ่นว่าเป็นองค์แท้และดั้งเดิมทั้งสิ้น






 พระ toluvila ลังกา
๔) ด้วยตำนานที่สืบเนื่องมานานว่าสร้างทำอย่างเหมือนพระพุทธองค์ เป็นที่รวมซึ่งอิทธานุภาพ ๓ ประการ คือ

อธิษฐานพละของพระอรหันต์ อธิษฐานพละของเจ้าลังกา และศาสนพละของพระพุทธองค์   กระทำให้พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธปฏิมากรที่ทรงอานุภาพ ในตอนหนึ่งของสิหิงคนิทาน พระโพธิรังสี กล่าวว่า  "พระพุทธสิหิงค์เมื่อประทับอยู่ ณ ที่ใด ย่อมทรงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองดั่งดวงประทีปชัชวาล เหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่"

         พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ผู้รวบรวมตำนานพระพุทธสิหิงค์ กล่าวถึงว่า "อย่างน้อยก็สามารถบำบัดทุกข์ร้อนในใจให้เหือดหาย ผู้ใดมีความทุกข์ร้อนในใจท้อถอยหมดมานะด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ถ้าได้มาจุดธูปเทียนบูชาและนั่งนิ่งๆ มองดูองค์พระสัก ๑๐ นาที ความทุกข์ร้อนในใจจะหายไป ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งจะกลับมาสดชื่น หัวใจที่ท้อถอยหมดมานะจะกลับเข้มแข็งมีความมานะพยายาม ดวงจิตที่หวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ ดวงจิตที่เกียจคร้านจะกลับขยัน ผู้ที่หมดหวังจะกลับมีความหวัง"

พระสิหิงค์ ราชภัฎ ภาพจากคุณอำนวย ทองทะวัย

๕) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้สร้างพระพุทธสิหิงค์องค์ใหญ่ขึ้นประดิษฐานที่เชิงเขามหาชัย ผมได้เสนอแนะให้เป็นอุทยานและศูนย์การเรียนรู้พระพุทธสิหิงค์ ด้วยการประมวลรวบรวมพระพุทธสิหิงค์ต่างๆ จากทั่วทั้งประเทศมาประดิษฐานไว้พร้อมกับตำนานเรื่องราวทั้งหลาย รวมทั้งการพัฒนาประเพณีสรงน้ำสงกรานต์สำคัญขึ้น ณ ที่นี้






บัญชา / บ้านท่าวัง กทม.

๒๑ กค.๕๖

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปืนใหญ่หลายกระบอกนอกวิหารพระมหากัจจายนะ ๒

รอบวิหารพระมหากัจจายนะ มีปืนไหญ่เรียงราย  มีความเป็นมาหรือไม่ ??

????????????????????????



๔ มุมของวิหารพระแอดนั้น ท่านนำปืนใหญ่เก่า ๆ ที่พบและรวบรวมมาจากที่ต่าง ๆ วางไว้

ส่วนใหญ่เป็นปืนใหญ่ทำจากเหล็ก ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก ยังไม่มีการศึกษาค้นคว้าว่าของทำที่ไหน ใช้ที่ไหน สมัยไหน
แต่ว่าพบทั่วไปในเมืองนคร



มี ๒ กระบอกสำคัญทางด้านทิศเหนือ

ด้านประตูวิหาร มีกระบอกหนึ่งน่าจะเป็นทองแดงผสม มีอักขระอาหรับหล่อไว้ด้วย เคยมีการอ่านแปลไว้แล้ว ขอเวลาค้นข้อมูลให้

ด้านหลังวิหาร มีอีกกระบอกหนึ่ง ระบุปี คศ และ VOC ซึ่งเป็นชื่อย่อของบริษัท ดัช อีสอินเดีย ผู้เอาเรือปืนเข้ามาเป็นเงื่อนไขการเปิดการค้ากับแถบนี้  โดยได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าที่เมืองนคร ประมาณรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร ถ้าจำไม่ผิดนะครับ

แล้วจะค้นหารายละเอียดมาเพิ่มครับ


บัญชา / กทม.
๑๗ กค.๕๖ 

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วิหารพระมหากัจจายนะ : บูชาแบบอย่างผู้ถึงธรรมที่คลี่คลายกลายเป็นพระแอดแห่งเมืองนคร

ในวิหารพระแอด วัดพระมหาธาตุ ด้านหลังองค์พระประธาน  มีการวางไม้(ตามภาพ) ทำไม ?

??????????????????????????

วิหารประดิษฐานพระมหากัจจายนะ หนึ่งในพุทธสาวกรูปงามผู้เป็นเลิศในทางย่อและขยายข้อธรรมเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของมหาชน จนพากันติดรูปและไม่สนใจธรรม
ถึงกับท่านต้องแก้ด้วยการมีรูปร่างที่ไม่งามอวบอ้วนเพื่อให้คนสนใจในธรรม


เดิมประดิษฐานกลางแจ้งนอกพระวิหารคด แล้วยายแอดถวายปัจจัย สร้างพระวิหารนี้เพื่อประดิษฐาน ก่อนที่จะกลายมาเป็นที่แก้เคล็ดแก้เข็ดหลังของผู้คนด้วยการนำไม้มาค้ำ 




ต่อด้วยการกลายเป็นผู้ดลบันดาลความสำเร็จ     สารพัด โดยเฉพาะการขอลูก จึงมีรูปภาพเด็ก ๆ มารายงานผล ขอพรพร้อมกับการฝากเนื้อฝากตัวไว้มากมาย









การเคลื่อนความหมายของพระมหากัจจายนะนี้ เท่าที่ปรกฏในวัดพระธาตุก็มีมาหลายคำรบแล้ว
แบบว่าจนแทบไม่เหลือเค้าความหมายดั้งเดิมที่ท่านมุ่งให้สนใจในธรรมเป็นสำคัญ อย่างมัวหลงติดอยู่ในรูป



มาออกเป็นแก้ปวดเมื่อยเข็ดหลัง แล้วก็มาเป็นที่บนบานการขอลูกแล้วเอารูปลูกมาฝากให้ท่านดูแลรักษา







บัญชา / กทม.
๑๕ กค.๕๖ 

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วิหารทรงม้า ๔ : ภาพพระทรงม้า ปางออกมหาภิเนษกรม์

ภาพในวิหารทรงม้านี้มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร ?

????????????????



นี้คือหนึ่งในภาพปูนปั้นนูนต่ำ (Bas Relief) ชิ้นสำคัญในระดับที่เรียกกันว่าเป็นมรดกวัฒนธรรมชั้นเยี่ยมของชาติ หรือ National Treasure & Master piece ที่ประกอบด้วยทั้งความงามประณีต ความมีขนาดใหญ่ และ สมบูรณ์ด้วยเนื้อหา ไม่มีชิ้นอื่นใดในชาติเทียบเท่า
เรียกกันว่าภาพปูนปั้นภาพพระมหาภิเนษกรม์

แสดงครั้งพระพุทธองค์ทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรม์ คือ ออกทรงผนวชเป็นที่มาของชื่อพระวิหารมหาภิเนษกรม์ หรือ พระทรงม้าหรือที่กร่อนลงมาเหลือเพียงวิหารพระม้า


เป็นภาพปูนปั้นนูนต่ำติดไว้ที่ผนังบันไดทางขึ้นลานประทักษิณทั้ง ๒ ด้าน
โดยภายในสุดที่ฐานองค์พระบรมธาตุ มีซุ้มพระพุทธรูปอย่างที่ฐานทักษิณด้านนอก


ภาพปูนปั้นนูนต่ำนี้บอกเรื่องราวครั้งเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกผนวชตามลำดับ
จากด้านในออกมาที่แสดงเป็นภาพเหล่าเทวดานางฟ้ามาเฝ้าอยู่
เทวดาองค์บนอาจจะเป็นพระพรหม


ถัดมาแสดงพระวิมานที่พระนางยโสธราพิมพากำลังบรรทมหลับ
มีพระราหุลกุมารอยู่ในอ้อมพระอุระ เห็นพระถรรเต็มตึง

ต่ำลงมาเป็นเหล่าสนมนางในที่หลับไหลอยู่ท่ามกลางช่างประโคมและรำฟ้อน














ภาพบุรุษทรงพระภูษา ชฎา และพระขรรค์ในหัตถ์ขวา
คือเจ้าชายสิทธัตถะกำลังผันพระพักตร์กึ่งทางไปยังพระชายาและกุมาร

ยกพระขรรค์เสมือนหมายว่าจะทรงตัดเสียจากโลกียวิสัยที่ทรงมีอยู่อย่างพร้อมสรรพ ทั้งปราสาทราชวังนางในและทรัพย์สมบัติแม้จะเต็มไปด้วยความอาลัยขณะที่พระบาทนั้นหันออกนอกเพื่อพระดำเนินออกไปแสวงหาความหมายแห่งชีวิตที่มากกว่าการเสาะแสวงหาและเสพสุขอยู่เยี่ยงนี้ ดังที่ทรงมีนิมิตว่าด้วยความแก่  ความเจ็บ ความตาย และ การออกบำเพ็ญเพียรภาวนามาก่อน พระบาทของพระองค์มีดอกบัวบานรับ แสดงถึงเส้นทางนี้เป็นมงคลควรดำเนิน






ภาพใหญ่แสดงขณะเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะลอยเด่น
มีเหล่าเทวดาจำนวนมากมาร่วมแห่แหนพาเหาะมุ่งไปข้างหน้า
ที่พอจะระบุได้มีพระพรหมกำลังถวายฉัตร ๓ ชั้นอยู่ด้านหลัง
ในขณะที่นายฉันนะนั้นกำลังเกาะพู่พวงหางของม้ากัณฑกะไว้
ขอให้ดูเครื่องประดับทรงของม้าต้นที่งดงามอย่างยิ่ง



ณ สุดขอบกรอบของภาพนี้
ท่านทำเป็นภาพบุคคลถือกระบองยืนโบกมือห้ามอยู่





ด้านตะวันตกทำให้เห็นชัดว่าคือยักษ์มารร้าย

หมายถึงพญามารที่มาคอยสกัดห้ามการเสด็จออกผนวช



แถมยืนอยู่บนพญาราหูน้อย หนึ่งในหมู่แห่งพญามารเช่นกัน








โดยรวมแล้วภาพนี้นอกจากจะเป็นภาพพุทธประวัติตอนสำคัญแล้วยังสามารถอุปมาอุปไมยให้คติแก่ชีวิตอย่างสำคัญหลายชั้น ดังนี้

๑)ระลึกถึงประวัติและคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงรู้แล้วมุ่งมั่นศึกษาปฏิบัติจริงจังจนตรัสรู้แล้วเมตตาสั่งสอนสืบมาจนถึงพวกเรา


๒)ระลึกถึงแบบอย่างการสละความสุขของชีวิตทางโลกออกผนวชเพื่อเสาะแสวงหาทางธรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า มหาภิเนษกรม์ เพราะหากไม่มีครั้งนี้ก็ไม่มีพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา

๓) ระลึกถึงตนเอง แม้ไม่ถึงกับการสละทางโลกออกบวชอย่างพระพุทธองค์  ก็ขอให้คิดถึงกุศลกรรมอีกมากมายที่พึงกระทำซึ่งจะได้รับการสรรเสริญจากเหล่าเทวดาคนดี  โดยมักจะมีฝ่ายอกุศลเสมือนมารร้ายมาคอยสกัดยับยั้งชักชวนให้เสียอยู่เสมอ ๆ  ซึ่งต้องอาศัยการประกอบไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงไม่ให้แพ้เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะตัดพระทัยออกมาจากสุขและสมบัติอันเย้ายวนอย่างยิ่ง



ตามตำนาน กล่าวว่าภาพปูนปั้นนี้
๒ เศรษฐีชาวมอญและลังกาชื่อพลิติพลิมุ่ย ผู้มาอยู่ร่วมซ่อมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้ทำขึ้นจากอัฐิอังคารของลูกของทั้ง ๒ คนที่ทะเลาะแล้วฆ่ากันตายขณะที่พ่อมาทำกิจกุศล

แต่ตามประวัติศาสตร์ศิลปกล่าวกันว่าเป็นงานศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายเชื่อว่าซ่อมสร้างครั้งใหญ่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่หลังจากร้างอยู่นาน  พร้อมกับการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยา และส่งสมณทูตไปสถาปนาสยามวงศ์ในกรุงลังกาหลังจากนั้นมีการบูรณะอีกหลายครั้งยังอยู่อย่างสมบูรณ์ถึงทุกวันนี้ ต่างจากที่อื่น ๆ ซึ่งปรักหักพังร้างราลงเหลือแต่เพียงเศษเสี้ยวเป็นส่วน ๆ แทบทั้งนั้น.

ที่พระธาตุทุกวันนี้นั้น มี ๒ ภาพใหญ่เท่า ๆ กัน ด้านตะวันออกของบันไดกล่าวกันว่าเป็นของเก่าก่อน ด้านตะวันตกที่มีฝีมือด้อยกว่า กล่าวกันว่าเป็นของทำตามขึ้นภายหลัง มีรายละเอียดแตกต่างกันไม่มากนัก.

บัญชา พงษ์พานิช
เพลินสถาน สวนสร้างสรรค์ นาคร-บวรรัตน์ / สุธีรัตนามูลนิธิ
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖







วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

;วิหารทรงม้า ๓ : นานารูปลอยตัวสองข้างบันไดบอกเรื่อง ๓ ภพของชีวิต และ นานาเหล่าผู้พิทักษ์พระธาตุ


ในวิหารทรงม้านี้มีรูปปั้นเทวดา   ยักษ์  สิงห์สาราสัตว์ หลายอย่าง หมายถึงอะไรครับ ??
????????????????????
 
เป็นภาพมุมกว้างที่หลายองค์มีแผ่นหินอ่อนจารึกชื่อไว้
แต่หลายองค์ก็ไม่มี


มีการเขียนจากการตีความไว้หลายอย่าง ในเรียนรู้บูชาฯ ที่ผมเขียนเมื่อ ๑๐ปีก่อนก็เขียนไว้แล้ว

แต่ถึงวันนี้ หลังกระแสจตุคามรามเทพ และการสืบค้นต่อของผมรวมทั้งอีกหลาย ๆ ท่าน ขอเสนอดังนี้

เป็นการแสดงภาพ ๓ ภพ บาดาล มนุษย์และสัตว์ แล้วก็ สวรรค์

นาคทั้ง ๒ คือเจ้าแห่งบาดาลใต้ลงไป

อยู่ใต้เขาพระสุเมรุ มี ๔ พญานาค

ทถรฐนาคราช กำภลนาคราช วิรุลหกนาคราช และ วิรุลปักษนาคราช

ยักษ์ทั้ง ๒ คือตัวแทนของจตุโลกบาลทั้ง ๔ ผู้พิทักษ์สวรรค์ชั้นต้น คือ
 
ท้าวกุเวร เป็นใหญ่แก่ยักษ์ทั้งหลาย อยู่ทิศอุดร

ท้าวธตรฐ เป็นใหญ่แก่คนธรรพ์ทั้งหลาย อยู่ทิศบูรพา

ท้าววิรูปักษ์ เป็นใหญ่แก่นาคทั้งหลาย อยู่ทิศประจิม

ท้าววิรุฬราช เป็นใหญ่แก่กุมภัณฑ์ทั้งหลาย อยู่ทิศทักษิณ

ครุฑทั้ง ๒ คือสัตว์สวรรค์ผู้คอยปกป้อง

มีสิงห์อีก ๓ คู่ เสมือนสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เชิงสวรรค์ ผู้พิทักษ์พระบรมสารีริกธาตุ

อันนี้ ผมชอบเปรียบเปรยเป็นสิงห์แดง สิงดำ และ สิงห์ทอง จาก มธ. - จุฬาฯ และ รามฯ
ดูท่วงท่าก็บอกว่าอย่ามาร้าย เพราะคู่แรกนั่งจังก้า คู่ ๒ ยกขึ้นมาคู่สามยกอุ้งตีนเตือนกันชัดเจน
 

ที่ชั้นบนสุดหลังครุฑเข้าไปนั้น
มีรอยพระพุทธบาท ขัตุคาม ๒ บานประตู รามเทพ และ
พระนารายณ์หรือพระทรงเมืองตามที่เคยตอบแล้ว

รอยพระพุทธบาทนี้ ตามรอยมงคลในพระบาท
ท่านตีความว่าน่าจะสร้างแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

๒ บานประตูนั้น แต่เดิมว่าบานซ้ายมือคือพระพรหม เพราะมีหลายหน้า
บานขวาคือพระนารายณ์ ซึ่งทำให้ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีพระนารายณ์ ๒ องค์
จนไพล่ไปตีความว่าอีกองค์โน้นน่าจะเป็นพระทรงเมือง

แต่ทุกวันนี้ ผม กับ อ.ไมเคิล ไรท์ มีความเห็นตรงกันว่า
บานซ้ายที่มีหลายหน้านั้น มิใช่พระพรหม แต่คือขันธกุมาร โอรสของพระอิศวร
เป็นผู้มี ๕ หน้า และถือศาสตราวุธ นุ่งผ้าอย่างที่บานประตู

บานขวา ที่เคยว่าพระนารายณ์ ด้วยทรงจักรกับตรีนั้น แท้จริงคือ รามาวตาร
ของพระนารายณ์ ทรงศรที่หัตถ์ขวาล่างด้วย

ส่วนอีก ๒ เทพที่นั่งชันเข่า ๒ ข้างบานประตู และจารึกว่า ขัตตุคาม และ รามเทพ
อาจจะเป็นการจดจำกันจนเคลื่อนจากบานประตูลงไปอยู่ที่เทพนั่งทั้งสอง

แท้จริงแล้วเป็น ๔ เทพ ผู้พิทักษ์พระธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของลังกาโบราณ
ที่น่าจะนำเข้ามาเมืองไทยแต่โบราณจากลังกาแล้วปรากฏเป็นร่องรอยอยู่ที่เมืองนคร

ประกอบด้วย สุมนเทพ ลักษณเทพ ขันธกุมาร และ รามเทพ

ในโถงวิหารพระม้าตรงบันไดขึ้นพระธาตุนั้น ท่านแสดงให้เป็นชัดเจนเรื่องไตรภูมิ
จากบาดาลพิภพเบื้องล่าง มามนุษยและสัตวโลกที่เราอยู่กัน แล้วขึ้นไปเบื้องสูง จากสวรรค์ชั้นต้น
ขึ้นไปจนถึงที่เทพทั้ง ๔ ที่ตามมาจากลังกา

พอทะลุบานประตูออกไปก็อาจถือว่าเข้าสู่แดนที่สูงขึ้นไปตามองค์พระบรมธาตุเจดีย์จนกว่าจะถึงปลายยอดซึ่งถือว่าเป็นยอดสุดที่ชาวพุทธพึงปรารภการไปให้ถึง คือนิพพานครับ.


บัญชา / ๗ กค.๕๖ และ ๑๑ กค.๕๖

วิหารทรงม้า ๒ : พระพุทธรูปที่เชิงบันไดทางขึ้นลานประทักษิณ



พระพุทธรูปอะไรครับ
ด้านทิศเหนือตรงข้ามทางขึ้น
ลานรอบองค์พระธาตุ






?????????????

มีป้ายหินอ่อนจารึกอักษรเก่าอาจครั้งอยุธยา ว่า พระห้ามพยาธิ

ถ้าจำไม่ผิดเขียนด้วยว่าครั้งห่าลงที่เมืองไพศาลี
แต่ตามปางแล้วน่าจะเป็นพระปางห้ามญาติ หรือ ห้ามสมุทร ไม่แน่ใจ

คนแต่ก่อนก็บอกต่อแล้วเขียนตาม ๆ กันมาออกมาเป็น ห้ามพยาธิ
กลายเป็นห้ามโรค ซึ่งพ้องกับตำนานเมืองนครที่ชอบมีห่ามาลง

ส่วนผูกไปถึงเมืองไพศาลีโน่น ก็น่าจะเป็นการลากไปตามพุทธตำนานอีกตอนครับ

บัญชา

ขอเติมอีกนิดนะครับ

๑) เหตุการห้ามพระญาติของพระพุทธองค์นั้น เกิดขึ้นเมื่อคราวแห้งแล้งใหญ่แล้วพระญาติทั้ง ๒ ฝ่าย
คือกบิลพัสดุ์และเทวทหะ มีกรณีพิพาทแย่งน้ำถึงรบรากันวุ่นวาย จนพระพุทธองค์ทรงออกห้ามด้วยการตรัสว่าสายเลือดกับสายน้ำนั้น อะไรผูกพันและสำคัญกว่า

๒) ส่วนเหตุที่ไพศาลี ถ้าจำไม่ผิดเป็นคราวเกิดทุพภิกขภัยใหญ่ เกิดโรคระบาดผู้คนล้มตายคล้ายห่าลงครับ

บัญชา / ๑๑ กค.๕๖


วิหารทรงม้า ๑ : พระทรงเมือง หรือ พระนารายณ์ที่ข้างบันไดขึ้นลานประทักษิณ


เมื่อวานมี  อ.จากจุฬาขอให้ผมช่วยถ่ายภาพที่วิหารทรงม้า


 เค้าว่าจะทำวิจัยเรื่องเทวดาตนนี้ ที่ปรากฏอยู่ในวัดสำคัญทางภาคเหนือและอีสาน
แต่ผมดูข้อมูลจากหนังสือสารคดี ฉบับนครศรีธรรมราช

บอกว่าเป็นพระหลักเมือง

จะเชื่อข้อมูลจากหนได้ครับ

?????????????

 เป็นภาพที่กล่าวกันไว้ ๒ แนว


แนวหนึ่งบอกว่าคือพระนารายณ์ ด้วยเป็นเทพสวมหมวกแขกเห็นจักรกับตรีใน ๒ หัตถ์บน

อีกแนวหนึ่ง บอกว่าเมืองโบราณตามคติพราหมณ์จะต้องมีพระเสื้อเมือง ทรงเมือง และ หลักเมือง
ว่ากันมาแต่ก่อนว่า พระเสื้อเมืองอยู่ที่ข้างฐานพระสยม ตอนนี้จีนแปลงเป็นศาลเจ้า
พระหลักเมืองหมายถึงองค์พระธาตุ ต่อมาว่าหินหลักจนกลายออกมาเป็นศาลที่หน้าเมือง ?

หาพระทรงเมืองไม่เจอ บางคนจึงหมายเอาว่าเทพนี้น่าจะเป็นพระทรงเมืองครับ

บัญชา