วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

;วิหารทรงม้า ๓ : นานารูปลอยตัวสองข้างบันไดบอกเรื่อง ๓ ภพของชีวิต และ นานาเหล่าผู้พิทักษ์พระธาตุ


ในวิหารทรงม้านี้มีรูปปั้นเทวดา   ยักษ์  สิงห์สาราสัตว์ หลายอย่าง หมายถึงอะไรครับ ??
????????????????????
 
เป็นภาพมุมกว้างที่หลายองค์มีแผ่นหินอ่อนจารึกชื่อไว้
แต่หลายองค์ก็ไม่มี


มีการเขียนจากการตีความไว้หลายอย่าง ในเรียนรู้บูชาฯ ที่ผมเขียนเมื่อ ๑๐ปีก่อนก็เขียนไว้แล้ว

แต่ถึงวันนี้ หลังกระแสจตุคามรามเทพ และการสืบค้นต่อของผมรวมทั้งอีกหลาย ๆ ท่าน ขอเสนอดังนี้

เป็นการแสดงภาพ ๓ ภพ บาดาล มนุษย์และสัตว์ แล้วก็ สวรรค์

นาคทั้ง ๒ คือเจ้าแห่งบาดาลใต้ลงไป

อยู่ใต้เขาพระสุเมรุ มี ๔ พญานาค

ทถรฐนาคราช กำภลนาคราช วิรุลหกนาคราช และ วิรุลปักษนาคราช

ยักษ์ทั้ง ๒ คือตัวแทนของจตุโลกบาลทั้ง ๔ ผู้พิทักษ์สวรรค์ชั้นต้น คือ
 
ท้าวกุเวร เป็นใหญ่แก่ยักษ์ทั้งหลาย อยู่ทิศอุดร

ท้าวธตรฐ เป็นใหญ่แก่คนธรรพ์ทั้งหลาย อยู่ทิศบูรพา

ท้าววิรูปักษ์ เป็นใหญ่แก่นาคทั้งหลาย อยู่ทิศประจิม

ท้าววิรุฬราช เป็นใหญ่แก่กุมภัณฑ์ทั้งหลาย อยู่ทิศทักษิณ

ครุฑทั้ง ๒ คือสัตว์สวรรค์ผู้คอยปกป้อง

มีสิงห์อีก ๓ คู่ เสมือนสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เชิงสวรรค์ ผู้พิทักษ์พระบรมสารีริกธาตุ

อันนี้ ผมชอบเปรียบเปรยเป็นสิงห์แดง สิงดำ และ สิงห์ทอง จาก มธ. - จุฬาฯ และ รามฯ
ดูท่วงท่าก็บอกว่าอย่ามาร้าย เพราะคู่แรกนั่งจังก้า คู่ ๒ ยกขึ้นมาคู่สามยกอุ้งตีนเตือนกันชัดเจน
 

ที่ชั้นบนสุดหลังครุฑเข้าไปนั้น
มีรอยพระพุทธบาท ขัตุคาม ๒ บานประตู รามเทพ และ
พระนารายณ์หรือพระทรงเมืองตามที่เคยตอบแล้ว

รอยพระพุทธบาทนี้ ตามรอยมงคลในพระบาท
ท่านตีความว่าน่าจะสร้างแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี

๒ บานประตูนั้น แต่เดิมว่าบานซ้ายมือคือพระพรหม เพราะมีหลายหน้า
บานขวาคือพระนารายณ์ ซึ่งทำให้ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีพระนารายณ์ ๒ องค์
จนไพล่ไปตีความว่าอีกองค์โน้นน่าจะเป็นพระทรงเมือง

แต่ทุกวันนี้ ผม กับ อ.ไมเคิล ไรท์ มีความเห็นตรงกันว่า
บานซ้ายที่มีหลายหน้านั้น มิใช่พระพรหม แต่คือขันธกุมาร โอรสของพระอิศวร
เป็นผู้มี ๕ หน้า และถือศาสตราวุธ นุ่งผ้าอย่างที่บานประตู

บานขวา ที่เคยว่าพระนารายณ์ ด้วยทรงจักรกับตรีนั้น แท้จริงคือ รามาวตาร
ของพระนารายณ์ ทรงศรที่หัตถ์ขวาล่างด้วย

ส่วนอีก ๒ เทพที่นั่งชันเข่า ๒ ข้างบานประตู และจารึกว่า ขัตตุคาม และ รามเทพ
อาจจะเป็นการจดจำกันจนเคลื่อนจากบานประตูลงไปอยู่ที่เทพนั่งทั้งสอง

แท้จริงแล้วเป็น ๔ เทพ ผู้พิทักษ์พระธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของลังกาโบราณ
ที่น่าจะนำเข้ามาเมืองไทยแต่โบราณจากลังกาแล้วปรากฏเป็นร่องรอยอยู่ที่เมืองนคร

ประกอบด้วย สุมนเทพ ลักษณเทพ ขันธกุมาร และ รามเทพ

ในโถงวิหารพระม้าตรงบันไดขึ้นพระธาตุนั้น ท่านแสดงให้เป็นชัดเจนเรื่องไตรภูมิ
จากบาดาลพิภพเบื้องล่าง มามนุษยและสัตวโลกที่เราอยู่กัน แล้วขึ้นไปเบื้องสูง จากสวรรค์ชั้นต้น
ขึ้นไปจนถึงที่เทพทั้ง ๔ ที่ตามมาจากลังกา

พอทะลุบานประตูออกไปก็อาจถือว่าเข้าสู่แดนที่สูงขึ้นไปตามองค์พระบรมธาตุเจดีย์จนกว่าจะถึงปลายยอดซึ่งถือว่าเป็นยอดสุดที่ชาวพุทธพึงปรารภการไปให้ถึง คือนิพพานครับ.


บัญชา / ๗ กค.๕๖ และ ๑๑ กค.๕๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น